โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

วิธีดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ในช่วงของ “วัยทำงาน” ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตาม บอกได้เลยว่าคุณโชคดีมากๆ ค่ะ เพราะคุณกำลังจะได้รับประโยชน์จากบทความต่อไปนี้แบบเต็มๆ ไม่มีกั๊ก!

 

เมื่อพูดถึง “โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน” ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า มีด้วยกันหลายโรคมาก ๆ และเราจะขอคัดมาเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุด 8 โรคก่อนนะคะ ซึ่งคุณจะได้ทราบทั้งลักษณะอาการ สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องโรคทั้ง 8 โรค อย่างละเอียด ส่วนจะมีโรคยอดฮิตอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

1.  โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

2.  โรคปวดหัวไมเกรน

3.  โรคกรดไหลย้อน

4.  โรคริดสีดวงทวารหนัก

5.  โรคปวดกล้ามเนื้อ

6.  โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

7.  โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด 

8.  โรคนิ้วล็อก

 

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน


มาต่อกันด้วยโรคที่ 6 โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

งานวิจัยจากประเทศเยอรมนี้โดยสถาบันอาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (Occup Environ Med 2003) พบว่าอาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ก้ม หรือ โค้งตัวลงไปด้านหน้า ยก แบก หรือ หิ้วของหนัก และเข็นของหนักๆ

 

อาชีพดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นแค่ผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงาน นอกโรงงาน เช่น ก่อสร้าง ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง แต่อันที่จริงเป็นได้กับคนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล คนทำงานในสำนักงาน ซึ่งไม่สามารถเลี่ยงการก้ม การยก และการทำงานหนักได้

 

ในงานวิจัยนี้สรุปว่า หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่ได้ทำให้ทุกข์กายเท่านั้น แทบทุกคนที่เป็นโรคนี้ประสบปัญหาความเครียดจากโรคภัยไข้เจ็บจนแทบจะทำงานไม่ได้ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนจึงได้ชื่อว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอีกโรคหนึ่ง

 

 

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน คืออะไร?


คือภาวะที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังชั้นนอกฉีกขาด ทำให้แก่นกลางหมอนรองกระดูกส่วนในโผล่ออกมากดเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังก่อให้เกิดความเจ็บปวด เช่น ที่คอ หลัง แขน ขา มือ แล้วแต่ว่าหมอนรองกระดูกสันหลังจะเคลื่อนออกมาชนประสาทตรงบริเวณไหน ภาวะนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น หรือ แตก

 

6 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน


1. อยู่ในวัยทำงาน อายุ 30-40 ปีขึ้นไป เพราะอายุที่มากขึ้นทำให้หมอนรองกระดูกไม่ยืดหยุ่น เหมือนคนอายุน้อย จึงมีโอกาสเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนสูงขึ้น

 

2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตซ้ำ ๆ เช่น การทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ , ต้องยกของหนัก , ยกของผิดท่า พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้หมอนรองกระดูกยุบตัวลง ทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังตีบแคบลง มีโอกาสเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนสูงขึ้น

 

3. การสูบบุหรี่ทำให้กระดูกพรุนง่าย ออกซิเจนไปเลี้ยงกระดูกน้อยลง มีโอกาสเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนสูงขึ้น

 

4. น้ำหนักมาก ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังได้รับความเครียด มีโอกาสเคลื่อนสูง

 

5. เป็นโรคเบาหวาน กระดูกอ่อนแอเนื่องจากออกซิเจน และ อาหารไปเลี้ยงกระดูกน้อยลง มีโอกาสเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนสูงขึ้น

 

6. ถูกกระแทกอย่างแรง หรือ อย่างรวดเร็วแม้ไม่รุนแรง

 

6 อาการของภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน


1. ปวดหลังบริเวณบั้นเอวเหมือนถูกแทง ปวดร้าวไปที่สะโพก ขา และ น่อง อาการปวดจะแย่ลงเมื่อต้องทำงาน ไอ จาม นั่ง โค้งตัวเก็บของ ขับรถ เดิน หรือ ยืนนาน ๆ และอาการมักจะดีขึ้นหากได้นอนพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ขณะนั่งรู้สึกปวด หากยกแขนสองข้างประสานสูงเหนือศีรษะอาจรู้สึกเบาปวด หรือ เปลี่ยนถ่ายน้ำหนักจากขาข้างหนึ่งมาอีกขาหนึ่งอาจเบาปวดกว่าเดิม

 

2. อาการปวดจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการกดประสาทของหมอนรองกระดูกสันหลังว่ามีมากน้อยแค่ไหน

 

3. ขาอ่อนแรง แสดงว่ามีการกดของเส้นประสาทอย่างรุนแรง

 

4. เจ็บชาเหมือนมีเข็มทิมที่สะโพก ขา น่อง

 

5. อุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ แสดงว่าประสาทที่สั่งงานควบคุมการขับถ่ายถูกกระทบกระเทือน

 

6. ปวดต้นคอ ในกรณีมีหมอนรองกระดูกสันหลังต้นคอเคลื่อน อาการปวดจะร้าวมาที่ไหล่ แขน อ่อนแรงแขน ชาแขน เจ็บแสบร้อนที่แขน

 

การรักษา

คุณสามารถรักษาตนเองโดยใช้วิธีธรรมชาติบำบัด หรือ ไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาเบื้องต้นได้ดังนี้


• พักผ่อน หยุดทำงานหนัก ไม่ยกของ ไม่ก้มหลัง ไม่เดินมาก ไม่นั่งนานเกิน 1-2 ชั่วโมง

 

• ประคบเย็น ในกรณีที่รู้สึกปวด ให้ประคบเย็นบริเวณกระดูกสันหลังที่กดแล้วปวดครั้งละ 10-15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง

 

• ประคบร้อน ในกรณีที่กล้ามเนื้อหลัง แขน ขาเกร็ง ให้ประคบร้อนด้วยกระเป๋าไฟฟ้า กระเป๋าน้ำร้อน หรือ ถุงเจลร้อน ที่บริเวณกล้ามเนื้อที่เกร็ง ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยลดอาการเกร็งได้

 

• ออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการปวดได้

 

• นอนบนกระดาน หรือ พื้น หรือ ที่นอนที่แข็ง

 

• นวดอย่างถูกวิธี ตามคำแนะนำของผู้ที่มีความรู้ เช่น แพทย์แผนไทย , นักกายภาพบำบัด

 

• จัดกระดูกสันหลัง (Chiropractic) โดยนักไคโรแพร์กติก

 

• เรียนรู้อิริยาบถต่าง ๆ เช่น ยกของ วิธีเดิน นั่ง ยืน นอน ที่ถูกวิธี

 

• ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Transcutaneous electrical nerve stimulation, TENS) เชื่อว่าสามารถลดความเจ็บปวดได้ โดยปิดกั้นการทำงานของเส้นประสาทที่ทำให้ปวด และมีการหลั่งเอ็นดอร์ฟินสารแห่งความสุขออกมา

 

• ธาราบำบัด แช่ตัวในน้ำอุ่นในอ่างน้ำวน มีการบริหารร่วมด้วย เช่น ยกขา เดินในน้ำ

 

• กายภาพบำบัด เช่น ดึงคอ ดึงหลัง (Traction) ทำให้ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ต้องอยู่ในความดูแลของนักกายภาพบำบัด

 

• สวมปลอกคอ ในกรณีที่เกิดหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน นอกจากช่วยลดอาการปวดแล้วยังอาจช่วยลดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังอีกด้วย

 

• ไปพบแพทย์เพื่อฝังเข็ม 

 

• การรักษาตนเองเบื้องต้น ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ สามารถลดอาการปวดได้กว่าร้อยละ 90 อาการปวดมักค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้เมื่อรักษาไปนาน 4-6 สัปดาห์

 

สมุนไพรรักษาออฟฟิศซินโดรม

 

แต่หากคุณมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการปวดหลัง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


• น้ำหนักลด

• ปวดรุนแรงจนรับประทานอาหารไม่ได้

• ปวดมาก กินยาแก้ปวด หรือ รักษาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น

• รักษาเบื้องต้นต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ แล้วอาการปวดยังคงที่ หรือ ปวดมากขึ้น

• ชาเหน็บอย่างมากบริเวณก้นส่วนที่ใช้นั่ง หรือ รอบ ๆ ทวารหนัก (Saddle anesthesia)

• อ่อนแรงแขน หรือ ขา ปัสสาวะไม่ออก อุจจาระไม่ได้ แสดงว่ามีการกดของเส้นประสาทอย่างรุนแรง

• มีอาการกระดูกพรุนร่วมด้วย

 

 

นอกจากนั้น หากมีอาการที่บ่งบอกว่าอาจไม่ใช่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และต้องไปพบแพทย์ได้แก่


• มีไข้ อาจจะเป็นการอักเสบติดเชื้อของไขสันหลัง น้ำไขสันหลัง หรือ บริเวณใกล้เคียง

 

• คลำแล้วพบก้อนที่กระดูกสันหลัง หรือ มีแผลเรื้อรัง หรือ มีอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือ มีอาการของมะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดหรือตับ เป็นไปได้ว่าคุณอาจเป็นมะเร็งกระดูกสันหลัง

 

การฟื้นฟูบริหารร่างกาย


1. บริหารร่างกายทั่วไป

เหมาะสำหรับบริหารเมื่อรักษาด้วยยา หรือ ผ่าตัดจนไม่มีอาการของภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนแล้ว ซึ่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้แข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อแขนขา ช่วยลดการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนซ้ำ การบริหารดังกล่าวแล้วแต่ความชอบ เช่น เต้นแอโรบิก , เดินเร็วๆ , ขี่จักรยาน , ว่ายน้ำ หรือ ซิตอัพ

 

2. บริหารเพื่อเพิ่มการยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง มี 10 ท่าดังนี้

ท่าที่ 1 ยืนงอเข่า กดหลังชิดฝา

ท่านี้ให้หันหลังชนฝา ยืนงอเข่า เท้ายันพื้น กระดูกเชิงกรานขึ้น จะรู้สึกว่ามีช่องว่างที่บั้นเอวกับฝาผนัง เกร็งไว้ นับ 1-5 แล้วกระดูกเชิงกรานลงจนแผ่นหลังและแผ่นเอวทั้งหมดติดฝา นับ 1-5 แล้วปล่อยตัวตามสบาย ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 2 ยืนก้มตัวมือแตะปลายเท้าซ้าย-ขวา

ยืนกางขาห่างกันพอสบาย ยืดตัวชูมือขึ้นสูง แล้วก้มลงอย่างช้า ๆ สองมือพยายามแตะให้ถึงพื้น บิดตัวเอามือแตะเท้าซ้าย นับในใจ 1-5 แล้วบิดตัวเอามือแตะเท้าขวา นับ 1-5 ทำ ทั้งหมด 10 ชุด

 

ท่าที่ 3 ยืนแอ่นหลัง

ท่านี้ให้ยืนแยกขาพอสบาย ฝ่ามือทาบด้านหลังของเอวทั้งสองข้าง ดันมือมาข้างหน้าพร้อมกับแอ่นเอวให้ได้มากที่สุดเท่าที่ จะมากได้ ค้างไว้ นับ 1-5 ทำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 4 ยกขาวางโต๊ะ

ท่านี้ให้ยืนแล้วยกขาข้างหนึ่งวางบนโต๊ะที่มีความสูงระดับสะโพก เอามือทั้งสองข้างเอื้อมไปแตะปลายเท้า นับ 1-5 ทำข้าง ละ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 5 นอนคว่ำแอ่นหลัง

นอนคว่ำวางแขน และ มือ ทำท่าวิดพื้น แล้วค่อยๆ ใช้มือดันตัวขึ้นมาจนหลังแอ่นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นับ 1-5 แล้ววางตัวลง ทำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 6 คลานโก่งหลัง คล้ายกับท่าแมวบิดขี้เกียจ

อยู่ในท่าคลาน แอ่นหลังให้มากที่สุด นับ 1-5 ก่อนกลับมาอยู่ในท่าธรรมดา แล้วโก่งหลังให้มากที่สุด นับ 1-5 ให้กลับมาท่า ธรรมดา ทำ 10 ชุด

 

ท่าที่ 7 คลานยกขา

อยู่ในท่าคลาน ยกขาซ้ายขึ้นเหยียดตรงขนานกับพื้น นับในใจ 1-5 แล้ววางลง ต่อมายกขาขวาขึ้นเหยียดตรงขนานกับพื้น นับในใจ 1-5 แล้ววางลง ทำ 10 ชุด

 

ท่าที่ 8 มือจับข้อเท้า

ท่านี้นอนคว่ำกับพื้น แล้วงอขาทั้ง 2 ข้าง เข้ามาที่หลัง เอามือสองข้างจับข้อเท้าแล้วค่อยๆ แอ่นหลังขึ้น นับในใจ 1-5 แล้วผ่อนลง ทำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 9 นอนหงายกอดเข่า

นอนหงาย งอขาทั้ง 2 ขึ้น เอามือสองข้างกอดเข่าไว้ พยายามยกคอเกร็งขึ้น นับ 1-5 แล้วผ่อนคลาย ทำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 10 ยกสะโพกตีลังกาหลัง

ท่านี้เตรียมด้วยการนอนหงาย ขาทั้งสองข้างเหยียดตรง แล้วยกขาทั้งสองข้างขึ้นชี้ฟ้า ใช้มือทั้งสองข้างดันสะโพก จนเท้า ทั้งสองข้างอยู่เหนือศีรษะ นับ 1-5 แล้วกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำ 10 ครั้ง

 

 

ท่ากายบริหารป้องกันการปวดหลังทั้ง 10 ท่านี้ จะได้ผลดีต้องทำให้ครบทุกท่าอย่างต่อเนื่องกัน ขณะที่ทำควรสวมเสื้อผ้าที่สบาย ไม่รัดรูป หรือ คับเกินไป และแต่ละท่าควรทำจนรู้สึกกล้ามเนื้อหลังตึง จึงจะได้ผล ไม่ต้องทำหักโหมเกินไป แต่ให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะดียิ่งกว่า และเห็นผลได้เร็วที่สุดนะคะ

 

 

คลิกอ่านโรคก่อนหน้านี้ <<< โรคปวดกล้ามเนื้อ

คลิกอ่านโรคต่อไป  >>> โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด

 

 

บรรณานุกรม

พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข. 8 โรคร้ายของวัยทำงาน. พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552.

 

สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 086-955-6366, 091-546-9415

 


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.จิราณี กิจศิริพิพัฒน์

แพทย์แผนไทยประยุกต์

"พื้นฐานของสุขภาพดีคือการใส่ใจดูแลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ให้สมดุลกันเสมอ"

พท.ปฐมาพรรณ บุญประเสริฐ

แพทย์แผนไทย

" การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิถีธรรมชาติ เป็นเกราะป้องกันโรค ทางกายและใจ "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า