โรคปวดกล้ามเนื้อ

สำหรับบทความนี้ เราจะมาพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ 3 จุดที่มักเกิดกับคนวัยทำงานมากที่สุด ได้แก่ ปวดไหล่ ปวดคอ และปวดเท้า รวมถึงแนะนำวิธีรักษา และ ป้องกันอาการปวดเหล่านั้นให้หายไปไม่มากวนใจคุณอีก

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ในช่วงของ “วัยทำงาน” ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตาม บอกได้เลยว่าคุณโชคดีมากๆ ค่ะ เพราะคุณกำลังจะได้รับประโยชน์จากบทความต่อไปนี้แบบเต็มๆ ไม่มีกั๊ก!

 

เมื่อพูดถึง “โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน” ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า มีด้วยกันหลายโรคมาก ๆ และเราจะขอคัดมาเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุด 8 โรคก่อนนะคะ ซึ่งคุณจะได้ทราบทั้งลักษณะอาการ สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องโรคทั้ง 8 โรค อย่างละเอียด ส่วนจะมีโรคยอดฮิตอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

1.  โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

2.  โรคปวดหัวไมเกรน

3.  โรคกรดไหลย้อน

4.  โรคริดสีดวงทวารหนัก

5.  โรคปวดกล้ามเนื้อ

6.  โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

7.  โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด 

8.  โรคนิ้วล็อก

 

โรคปวดกล้ามเนื้อ


มาต่อกันด้วยโรคที่ 5 โรคปวดกล้ามเนื้อ

ต้องยอมรับเลยว่า โรคปวดกล้ามเนื้อได้กลายเป็นโรคสามัญประจำบ้านไปซะแล้ว ไม่มีบ้านไหนไม่ซื้อยาหม่อง หรือยาคลายกล้ามเนื้อติดตู้ยาไว้แน่นอน แม้กระทั่งในที่ทำงานบางบริษัทยังมียาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สำรองไว้ให้พนักงานใช้ในยามที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม

 

อาการปวดกล้ามเนื้อ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่มีอาชีพแบกหาม ก็มักจะมีอาการปวดไหล่ ส่วนผู้ที่มีอาชีพเสิร์ฟอาหารที่ต้องเดินไม่หยุด ก็มักจะมีอาการปวดขา และพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ หากนั่งผิดท่าก็มักจะมีอาการออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

 

สำหรับบทความนี้ เราจะมาพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ 3 จุดที่มักเกิดกับคนวัยทำงานมากที่สุด ได้แก่ ปวดไหล่ ปวดคอ และปวดเท้า รวมถึงแนะนำวิธีรักษา และ ป้องกันอาการปวดเหล่านั้นให้หายไปไม่มากวนใจคุณอีก

 

จุดที่ 1 ปวดไหล่ มีสาเหตุมาจากอะไร?


1. เอ็นอักเสบ

เอ็นมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกกับกล้ามเนื้อ เมื่อเอ็นได้รับการกระทบกระทั่ง หรือ ใช้งานหนักเกินไป อาจเกิดการฉีกขาด หรือ อักเสบ ทำให้ปวดมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวไหล่ จนบางรายไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้ สาเหตุนี้มักเกิดกับนักกีฬา หรือ ผู้ที่ทำงานแบกหาม

 

2. กล้ามเนื้อและเอ็น (Rotator Cuff) เสื่อมสภาพ

พบมากในผู้สูงอายุ เพราะยิ่งมีอายุมาก เอ็น และ กล้ามเนื้อที่ใช้งานมานานจะเสื่อมสภาพลง ส่วนที่พบได้บ่อยที่สุด คือกล้ามเนื้อและเอ็นที่มีหน้าที่หมุนหัวไหล่ หรือเรียกว่า Rotator Cuff

 

3. ถุงหุ้มข้ออักเสบ (Bursitis)

ถุงหุ้มข้อเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ มีหน้าที่ลดการเสียดสีระหว่างกระดูกและอวัยวะดังกล่าว เมื่อถุงหุ้มข้อได้รับแรงกระทบกระทั่งมากเกินไป ถุงหุ้มข้อที่ลื่นและช่วยหล่อลื่นข้อจะอักเสบ เกิดการฝืด ทำให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวผิดปกติ หรือเคลื่อนไหวไม่ได้

 

4. ข้ออักเสบ

เป็นการอักเสบที่เกิดในข้อไหล่เอง มีการแตกของกระดูกอ่อนที่คลุมข้อ ทำให้เกิดอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อไหล่ ไม่สะดวก

 

5. สาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับข้อไหล่

เนื่องจากข้อไหล่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทและกระดูกคอ ดังนั้น หากมีเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ข้อไหล่อักเสบ หรือกระดูกต้น คอทับเส้นประสาท ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้

 

7 วิธีรักษาอาการปวดไหล่

การรักษาอาการปวดไหล่มี 7 วิธี โดย 3 วิธีแรก เป็นวิธีที่รักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น


1. พักผ่อน

การพักผ่อนไม่ขยับเขยื้อนไหล่ จะช่วยให้อาการปวดไหล่จากสาเหตุการอักเสบดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวังว่า ถ้าพักผ่อนมากไป ไม่เคลื่อนไหวไหลเลย อาจจะเกิดอาการไหล่แข็งติดตามมา และจะทำให้ไม่สามารถยกไหล่ ยักไหล่ได้อีกต่อไป

 

2. ประคบร้อนและประคบเย็น

กรณีที่ปวดไหล่เฉียบพลันภายใน 24 ชั่วโมง การประคบเย็นจะช่วยลดอาการปวดบวมของไหล่ได้ และถ้าปวดนานเกิน 24 ชั่วโมง การประคบร้อนจะช่วยลดอาการปวดบวมของไหล่ได้เช่นกัน

 

3. เลือกใช้ยาต้านอักเสบ

สามารถปรึกษาเภสัชกรในการเลือกใช้ยา เช่น แอสไพริน บรูเฟน นาโปรเซน และยาต้านอักเสบใหม่ๆ จำพวก COX-2 inhibitors ซึ่งจะได้ผลในกรณีที่มีการอักเสบเกิดขึ้น แต่จะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย ถ้าอาการปวดไหล่นั้นเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อไหล่ค่ะ

 

4. ฉีดสารสเตียรอยด์

เช่น Cortisone เข้าข้อไหล่ กรณีที่เป็นมากแพทย์อาจจะเลือกใช้วิธีนี้

 

5. กายภาพบำบัด

แพทย์มักแนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อ รอบ ๆ ข้อไหล่ นวด หรือใช้อัลตร้าซาวนด์บำบัด

 

6. แพทย์ทางเลือก

เช่น การฝังเข็ม การนวดกดจุด การจัดกระดูก (Chiropractic) การอบสมุนไพร ฯลฯ

 

7. ผ่าตัดรักษา

แพทย์มักเลือกวิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย เมื่อวิธีอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล แต่ต้องพึงระวังว่า การรักษาโดยการผ่าตัดมักไม่ได้ผล-หากอาการปวดไหล่นั้นเกิดจากการเสื่อมของข้อเนื่องจากอายุและการใช้ข้อไหล่อย่างหักโหมมาเป็นเวลานาน

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการปวดไหล่


• ท่านั่ง

- ไม่ควรนั่งนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย

- ไม่ควรก้มหรือเงยมากเกินไป

- ไม่หมุนคออย่างรวดเร็ว

- ไม่นั่งสัปหงกเป็นประจำ โดยเฉพาะในขณะรถกำลังวิ่ง

- ขณะนั่งทำงาน โต๊ะทำงานควรจะพอดีกับระดับข้อศอก แขน มือ

 

• ท่านอน

- เมื่อจะลุกจากที่นอน ควรตะแคงตัว แล้วเอามือเท้าพื้นเพื่อพยุงตัวให้ลุกขึ้น

- เมื่อจะล้มตัวลงนอน ควรตะแคงตัว ใช้มือเท้าพื้นไว้เช่นกัน แล้วค่อยๆ ล้มตัวลงนอน

- หมอนและที่นอนไม่ควรนุ่มเกินไป

- หมอนหนุน ควรรับส่วนแอ่นของคอและส่วนบนของไหล่ไว้ให้พอดี หรือ เปลี่ยนมาใช้หมอนเพื่อสุขภาพ โดยเลือกซื้อรุ่นที่เหมาะกับสรีระของตัวเรามากที่สุด แนะนำให้ลองหนุนก่อนซื้อ หากหนุนแล้วรับสรีระพอดี ไม่เมื่อย ไม่เกร็ง ถือว่าใช้ได้ และควรเลือกซื้อที่คุณภาพดี วัสดุไม่เสื่อมสภาพเร็วด้วยนะคะ

 

• เมื่อเล่นกีฬา

ระวังการใช้ข้อไหล่มากเกินกำลัง เช่น กีฬาแบดมินตัน เทนนิส กระโดดเชือก

 

• เมื่อเดินทาง

ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในที่มีหลุมมีบ่อ ซึ่งจะกระทบกระเทือนกับข้อไหล่ได้

 

จุดที่ 2 ปวดต้นคอ มีสาเหตุมาจากอะไร?


1. โรคปวดหัวจากความเครียด หรือ ไมเกรน

สองโรคนี้ เป็นสาเหตุของอาการปวดต้นคอที่พบได้มากที่สุด บางรายจะเริ่มหนักๆ ต้นคอก่อน ตามมาด้วยอาการปวดหัวข้างเดียว หรือ สองข้าง

 

2. ได้รับบาดเจ็บที่คอ หรือ คอเคล็ดจากอุบัติเหตุ , นอนผิดท่า , ทำงานผิดท่า ฯลฯ

สำหรับเรื่องทำงานผิดท่าในปัจจุบันนี้ พบได้บ่อยมากค่ะ การกดเครื่องคิดเลข หรือ แม้แต่ก้มหน้ากดแป้นคอมพิวเตอร์ทั้งวันก็เป็นสาเหตุทำให้ปวดต้นคอได้ค่ะ

 

3. ข้อคออักเสบ

ภาวะนี้มักเกิดกับคนวัยกลางคน หรือ ผู้สูงอายุ เริ่มแรกจะปวดที่คอ ต่อมาปวดร้าวที่แขนข้างเดียว หรือ สองข้าง บางรายมีอาการเหน็บชาที่แขน และ มือร่วมด้วย บางรายเส้นประสาทถูกกดมากอาจจะมีอาการอ่อนแรงของแขน ยิ่งเคลื่อนไหวอาการก็ยิ่งเป็นมากขึ้น ถ้าเป็นมากกว่านั้นอาจจะมีอาการอ่อนแรงที่ขาทั้งสองข้าง และมีปัญหาในการขับถ่ายด้วยค่ะ

 

3 ข้อที่กล่าวมานี้เป็น Top 3 ของสาเหตุการปวดต้นคอ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบไม่มากนัก ได้แก่ โรครูมาตอยด์ โรคกระดูกสันหลังอักเสบ และ โรคเส้นประสาทอักเสบ

 

วิธีรักษาอาการปวดต้นคอ

ถ้าไม่มีการกดทับของเส้นประสาท ส่วนใหญ่จะเป็นการปวดต้นคอที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งสามารถดูแลรักษาได้ด้วยตนเองดังนี้


1. พยายามพักผ่อนให้มาก

ในช่วงปวดต้นคอ ควรนอนราบบนที่นอนแข็ง หนุนหมอนนุ่มที่แนบส่วนโค้งของลำคอได้พอดี โดยพยุงคอไม่ให้แหงนหรือก้มมากเกินไป

 

2. ประคบร้อน ประคบเย็น

เมื่อมีอาการปวดภายใน 24 ชั่วโมง ให้ใช้น้ำแข็งประคบจุดที่ปวด เมื่อมีอาการปวดเกิน 24 ชั่วโมง ให้ใช้น้ำอุ่นประคบจุดที่ปวด

 

3. รับประทานยาแก้ปวด

เช่น พาราเซตามอล บรูเฟน นาโปรเซน หรือแอสไพริน ทุก ๆ 6 ชั่วโมง ร่วมกับใช้ครีมนวดแก้ปวด

 

4. ค่อย ๆ นวดจุดที่ปวดเบา ๆ ไม่ควรนวดแรงเพราะจะฟกช้ำยิ่งขึ้น

 

5. ระวังการนอนผิดท่า อย่าเอียงคอมากไป

 

6. ระวังการนั่งผิดท่า

ไม่ว่าจะนั่งทำงาน หรือ ขับรถ ควรตั้งศีรษะตรง ไม่ควรก้ม หรือ แหงนมากเกินไป และอาจจะหาหมอนมาหนุนต้นคอในกรณีที่ขับรถทางไกล

 

กรณีที่รักษาด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรจะไปพบแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์อาจจะจัดยาเพิ่มให้ทั้งยากิน ยาฉีด แนะนำให้ใส่ปลอกคอ หรือ แนะนำให้ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้คลื่นเสียงอัลตร้าซาวนด์ เป็นต้น

 

จุดที่ 3 ปวดส้นเท้า มีสาเหตุมาจากอะไร?

ส่วนใหญ่เกิดจากเอ็นที่ขึงใต้ฝ่าเท้าอักเสบ โดยมีสาเหตุนำร่องดังนี้


• น้ำหนักมาก ทำให้เท้าต้องรับน้ำหนักเกินพิกัด

• ฝ่าเท้าแบน ไม่โค้ง (ไม่มี Arch of foot)

• ออกกำลังกายมาก วิ่งมาก กระโดดโลดเต้นมาก หรือยืนนานเกินไป

• สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้า เช่น ส้นสูง ส้นตึก

 

7 วิธีรักษาอาการปวดส้นเท้า จากเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

ข้อ 1-5 เป็นการรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น พบว่าการรักษาด้วยยาและการพักผ่อนมีโอกาสหายร้อยละ 95 ทีเดียวค่ะ โดยมีวิธีรักษาเรียงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้


1. พักผ่อนให้มาก อย่าให้เท้ารับน้ำหนักมาก งดออกกำลังกาย งดยืนหรือวิ่งนาน ๆ

2. ถ้าเป็นการปวดครั้งแรก ให้เอาน้ำแข็งประคบ ถ้าเป็นการปวดเรื้อรัง ให้แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ประมาณครั้งละ 20 นาที

3. เปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสม ใช้วัสดุนิ่มๆ รองตรงจุดที่เจ็บ

4. รัด (Splint) หรือยึดเอ็นส้นเท้าด้วยผ้าพันส้นเท้าและข้อเท้า

5. ซื้อยาจากร้านขายยามารับประทาน ได้แก่ ยาต้านการอักเสบจําพวกบรูเฟน นาโปรเซน หรือแอสไพริน ฯลฯ

6. พบแพทย์เพื่อสั่งยาต้านอักเสบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่รับประทาน

7. ใช้กายภาพบำบัด เช่น อัลตร้าซาวนด์ หรือจี้ด้วยเลเซอร์เย็น

 

แพทย์อาจฉีดสารสเตียรอยด์เข้าไปในจุดที่เจ็บ (ฉีดซ้ำได้ไม่เกิน 3 ครั้ง) หลังฉีดควรไปพบแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องเท้าเพื่อวัด เท้าทำแผ่นรองเท้า (Orthotic) ที่ช่วยพยุงส่วนโค้งของเท้า (Arch Support) และสวมใส่แผ่นรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ ถ้าใช้วิธีอื่น ๆ หมดแล้วยังไม่หาย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัด

 

วิธีป้องกันการปวดส้นเท้า

อาการปวดส้นเท้า กว่าจะรักษาให้หายสนิทได้ต้องกินเวลาเป็นแรมเดือนเลยนะคะ ถ้าคุณไม่อยากเสียเวลา และเสียค่ารักษามากมายตามอาการที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำให้ป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ดังนี้ค่ะ


• ลดน้ำหนักให้ค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ

• สวมรองเท้าหุ้มส้นที่มีส่วนโค้งพอเหมาะ และสามารถป้องกันการกระทบกระเทือนได้ดีเป็นประจำ

• เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬา

• แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นทุกคืนก่อนนอน อย่างน้อย 20 นาที

• บริหารเท้าเป็นประจำ

 

5 ท่าบริหารเท้า


1. นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ยกขาขวาเหยียดตรงไปด้านหน้า จิกนิ้วเท้าขวาทั้งห้าลงด้านล่าง เกร็งไว้ นับ 1-5 ทำ 10 ครั้งแล้ว เปลี่ยนข้าง

2. ในท่าเดิม แอ่นหลังเท้าขวาให้มากที่สุด และกางนิ้วเท้าทั้งห้าออกให้ได้มากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-5 ทำ 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนข้าง

3. ในท่าเดิม แอ่นนิ้วหัวแม่เท้าขวาขึ้น จิกนิ้วเท้าที่เหลือทั้งสี่ลงกับพื้น เกร็งไว้ นับ 1-5 ทำ 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนข้าง

4. ในท่าเดิม ให้วาดรูปวงกลมในอากาศด้วยหัวแม่เท้าขวา แต่ละรอบวงกลมให้นับ 1-5 ทำ 10 วงกลม แล้วเปลี่ยนข้าง

5. ใช้โลชั่นชโลม แล้วใช้มือค่อยๆ บีบนวดนิ้วเท้าแต่ละนิ้ว ร่องนิ้วเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้า และข้อเท้า

 

 

คลิกอ่านโรคก่อนหน้านี้ <<< โรคริดสีดวงทวารหนัก

คลิกอ่านโรคต่อไป  >>> โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

 

สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 02-1147027


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.จิราณี กิจศิริพิพัฒน์

แพทย์แผนไทยประยุกต์

"พื้นฐานของสุขภาพดีคือการใส่ใจดูแลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ให้สมดุลกันเสมอ"

พท.ปฐมาพรรณ บุญประเสริฐ

แพทย์แผนไทย

" การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิถีธรรมชาติ เป็นเกราะป้องกันโรค ทางกายและใจ "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า