โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน

วิธีดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย

โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ในช่วงของ “วัยทำงาน” ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตาม บอกได้เลยว่าคุณโชคดีมากๆ ค่ะ เพราะคุณกำลังจะได้รับประโยชน์จากบทความต่อไปนี้แบบเต็มๆ ไม่มีกั๊ก!

 

เมื่อพูดถึง “โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน” ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า มีด้วยกันหลายโรคมาก ๆ และเราจะขอคัดมาเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุด 8 โรคก่อนนะคะ ซึ่งคุณจะได้ทราบทั้งลักษณะอาการ พฤติกรรม ที่ทำให้เกิดสาเหตุ วิธีรักษาและการป้องโรคทั้ง 8 โรค อย่างละเอียด ส่วนจะมีโรคยอดฮิตอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

1.  โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

2.  โรคปวดหัวไมเกรน

3.  โรคกรดไหลย้อน

4.  โรคริดสีดวงทวารหนัก

5.  โรคปวดกล้ามเนื้อ

6.  โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

7.  โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด 

8.  โรคนิ้วล็อก

 

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ


มาเริ่มกันที่โรคที่ 1 “โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ” โรคนี้ถือเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่มักเกิดกับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศจะพบได้บ่อยมากที่สุด และยังคงมีสถิติสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนวัยทำงานในยุคสมัยนี้ มักใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบ เคร่งเครียด ไม่สามารถกิน นอน และขับถ่ายให้ตรงเวลาได้ง่ายๆ บางคนจำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะนาน ๆ จนเป็นเหตุให้เกิด “โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ” นั่นเองค่ะ

 

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

 

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบเกิดจากอะไร? 


เกิดจากการติดเชื้อภายในท่อทางเดินปัสสาวะ อาจเป็นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนร่วมกัน ได้แก่ (1.) ติดเชื้อที่รูเปิดของปัสสาวะ (2.) ติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ (3.) ติดเชื้อที่ท่อไต (4.) ติดเชื้อที่ไต โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ดังนี้ค่ะ

 

1. สุขอนามัยไม่ดี

เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบนั้น ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคตัวร้ายที่มีอยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้ว เช่น

- เชื้อ อี. โคไล (E. coli) เป็นเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระ

- เชื่อ Staphylococcus saprophyticus เป็นเชื้อโรคตัวร้ายที่อยู่บริเวณผิวหนังรอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนักของเรา

 

“เรื่องความสะอาดสำคัญมาก ๆ นะคะ หากเราไม่อาบน้ำปล่อยให้หมักหมม อับชื้น เชื้อโรคเหล่านี้จะรุกรานเข้าไปในรูเปิดปัสสาวะ จนเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบขึ้นได้ ถ้าได้เป็นแล้ว บอกเลย! ทรมานสุด ๆ ดังนั้นขยันอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่านะคะ”

 

2. ดื่มน้ำน้อย

หากเราดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้มีปริมาณน้ำปัสสาวะน้อย เชื้อแบคทีเรียที่ติดค้างกับปัสสาวะก็จะแบ่งตัวจำนวนมากขึ้นอยู่ภายในนั้น เป็นเหมือนที่เพาะเชื้อโรค จนน้ำปัสสาวะข้นเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย เป็นเหตุให้เราปวดแสบตอนปัสสาวะ แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อเร่งการปัสสาวะขับเชื้อแบคทีเรียออกมาให้หมดค่ะ

 

กระเพราะปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ

 

3. กลั้นปัสสาวะ

การกลั้นปัสสาวะ จะทำให้เชื้อโรคตัวร้ายที่ปนเปื้อนเข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะ แบ่งตัวและเจริญเติบโตมากขึ้น เป็นเหตุให้เรารู้สึกปวดแสบตอนปัสสาวะจนน้ำตาเล็ดเลยทีเดียว

 

4. ปัสสาวะและทำความสะอาดหลังปัสสาวะไม่ถูกวิธี

- ไม่ควรเร่งรีบปัสสาวะ เพราะการปัสสาวะไม่หมด น้ำปัสสาวะที่เหลือค้างจะเป็นที่เพาะเชื้อของเชื้อโรคตัวร้ายนะคะ

- ไม่ควรปัสสาวะแล้วล้างน้ำทุกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คุณผู้หญิงชอบทำ หากน้ำไม่สะอาดพอ อาจทำให้มีเชื้อโรค ปนเปื้อนไปที่รูปัสสาวะเพิ่มได้อีก แนะนำให้ใช้กระดาษชำระที่สะอาดซับให้แห้งแทนค่ะ

- ปัสสาวะแล้วไม่ควรเช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้า วิธีทำความสะอาดแบบนี้ทำให้เชื้อโรคจากทวารหนักหรือผิวหนังรอบ ๆ ปนเปื้อนมาที่รูปัสสาวะได้ค่ะ

 

5. เป็นคนชอบนั่งอยู่กับที่

การทำงานเพลินๆ จนไม่ดื่มน้ำ ไม่ลุกไปปัสสาวะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้เช่นกันค่ะ

 

6. การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกๆ

พบว่าการกระทบกระเทือนรูปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ จากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกๆ ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ในคุณผู้หญิงอย่างรุนแรงได้ โดยจะมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเจ็บท้องน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่กี่วัน เรียกภาวะนี้ว่า กระเพาะปัสสาวะอักเสบช่วงฮันนีมูน หรือ Honeymoon cystitis

 

"ข้อแนะนำ ในการป้องกันการเกิดภาวะนี้คือ ก่อนมีเพศสัมพันธ์และหลังมีเพศสัมพันธ์ให้ปัสสาวะทิ้ง ไม่กลั้นปัสสาวะ"

 

7. คู่ครองมีเชื้อโรค

ในคุณผู้ชายที่มีเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม และเชื้อโรคตัวร้ายอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ที่หนังหุ้มปลาย หรือในคุณผู้ชายที่อวัยวะเพศไม่สะอาดมีการหมักหมมเชื้อโรค ไม่เคยขริบ เมื่อมีเพศสัมพันธ์จะก่อโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบในคุณผู้หญิงได้

ในทางกลับกัน คุณผู้หญิงที่มีเชื้อโรค เมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะก่อโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบในคุณผู้ชายได้เช่นกัน หากทางเดินปัสสาวะอักเสบรุนแรงมาก ๆ อาจตามมาด้วยการเป็นหมันทั้งหญิงและชาย

 

8. ท้องผูกหรือท้องเสีย

หากเราท้องผูกหรือท้องเสีย จะทำให้มีอุจจาระปนเปื้อนเชื้อโรคมาคลออยู่ที่ทางออกทวารหนัก และเชื้อโรคเหล่านี้อาจปนเปื้อนมาที่รูปัสสาวะได้ค่ะ ดังนั้น ควรดูแลเรื่องการขับถ่ายให้เป็นปกติ ขับถ่ายทุกวัน เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคนะคะ

 

 

9. หญิงชราหรือเด็ก

ในวัยเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงคนป่วย เป็นกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานโรคค่อนข้างต่ำ จึงไวต่อการติดเชื้อโรคมากกว่าวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงทั่วไป ควรหมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

 

กระเพราะปัสสาวะอักเสบ

 

10. คุณผู้หญิงวัยทอง

วัยทองเป็นวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน เนื้อเยื่อของระบบทางเดินปัสสาวะจะหดและห่อเหี่ยว ทําให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคลดลง การกลั้นปัสสาวะและดูแลความสะอาดไม่ดี ก็อาจเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้

 

11. อ้วนมากไปหรือผอมมากไป

ผู้ที่มีภาวะอ้วนมากไปหรือผอมมากไปจะมีภูมิต้านทานต่ำ โอกาสติดเชื้อจึงสูงกว่าคนทั่วไป และในคนอ้วนมาก จะพบว่ามีเชื้อโรคตัวร้ายอยู่ตามจุดสงวนมากอยู่แล้วเนื่องจากความอับชื้น

 

12. โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ไม่ว่าจะเป็นนิ่วที่ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือในไต ตัวนิ่วมักมีเชื้อโรคมาเกาะอยู่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เจ็บปวด และมีปัสสาวะเป็นน้ำปนเลือด

 

13. เป็นโรคอัมพาต

คนไข้อัมพาตมักมีน้ำปัสสาวะคั่งจากการที่ประสาทไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน หากมีแผลกดทับหรือการดูแลความสะอาดไม่ทั่วถึง ยิ่งทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย

 

14. เป็นโรคเบาหวาน

โรคนี้จะมีเชื้อโรคตัวร้ายขึ้นที่ผิวหนัง (Colonization) มีโอกาสเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน 2-3 เท่า ยิ่งถ้าคุมเบาหวานไม่ได้หรือคุมได้ไม่ดี ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงมากขึ้น

 

15. รับประทานยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ผู้ที่เป็นโรคภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น SLE ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ภูมิต้านทานที่ต่ำจะทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย

 

16. ได้รับรังสีบริเวณกระเพาะปัสสาวะ

การรับรังสีที่รักษาโรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งปาก มดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ ทำให้เนื้อเยื่อของกระเพาะปัสสาวะถูกทำลาย โอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะภายหลังรักษา จะสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า

 

17. รูปัสสาวะตีบ

อาจจะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เคยผ่าตัด หรือมีการอักเสบเรื้อรัง ทำให้รูปัสสาวะตีบ น้ำปัสสาวะไหลไม่สะดวก มีการคั่งของน้ำปัสสาวะ

 

กระเพราะปัสสาวะอักเสบ

 

18. ตั้งครรภ์

ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์จะทำให้ไตและท่อไตทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ คนท้องยังมีตกขาวมาก ปัสสาวะบ่อย เนื้อเยื่อช่องคลอดจะสะสมสารไกลโคเจนซึ่งเป็นอาหารที่ดีของเชื้อโรค โอกาสติดเชื้อจึงสูงกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์

ในคนตั้งครรภ์ หากมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและไม่ได้รักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ เช่น แท้ง บุตรคลอดก่อนกำหนด มารดาตกเลือดหลังคลอด มารดามีโพรงมดลูกหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบหลังคลอด ทารกติดเชื้อ พิการ ปัญญาอ่อน หรือเสียชีวิต

 

19. โรคต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต เป็นเหตุให้ปัสสาวะไม่สะดวก เชื้อโรคที่รุกรานเข้าไปจึงตกค้างอยู่และแบ่งตัวเพิ่มจํานวนมากขึ้น

 

20. พันธุกรรม

งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า คนที่มีกลุ่มเลือดบี (B) หรือ เอบี (AB) ชนิด Non-secretors จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบชนิดซ้ำซากสูง อธิบายได้ว่ากลุ่มเลือดดังกล่าว ทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคที่ทำให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะลดลง

 

เห็นได้ชัดเลยว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมีมากมายขนาดนี้ คงไม่สงสัยแล้วนะคะว่าทำไมโรคนี้จึงเป็นโรคฮิตติดอันดับในชีวิตประจำวัน

 

อาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

 

อาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ


1. หากเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง มักจะเกิดอาการผิดปกติตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อ ดังนี้

 

- ปัสสาวะบ่อย คำว่าบ่อย หมายถึงถ่ายปัสสาวะเกิน 5 ครั้ง ในช่วงกลางวัน หรือปัสสาวะห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง และ/หรือในตอนกลางคืนที่หลับไปแล้ว ลุกมาปัสสาวะเกิน 1 ครั้ง

 

- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ การกลั้นปัสสาวะไม่ได้นั้นแบ่งง่ายๆ เป็น 4 แบบคือ

(1.) ปัสสาวะเล็ด เวลาหัวเราะ ไอ จาม มีปัสสาวะเล็ดออกมาจากรูปัสสาวะ

(2.) ปัสสาวะราด เวลาปวดปัสสาวะมีปัสสาวะไหลราด ออกมาโดยควบคุมไม่ได้

(3.) ปัสสาวะล้น ปัสสาวะแล้วไม่รู้สึกว่าปัสสาวะหมด เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะไม่มีแรงบีบตัว ปัสสาวะที่ไหลออก มาเป็นปัสสาวะที่ล้นมาจากกระเพาะปัสสาวะ

(4.) ปัสสาวะไหล มีน้ำปัสสาวะไหลหรือกะปริบออกมาตลอด ไม่สามารถกลั้นได้ อาจเกี่ยวข้องกับการมีรูรั่วที่ทางเดินปัสสาวะ

 

"การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ มักไม่ได้เป็นอาการที่แสดงว่าเป็น ทางเดินปัสสาวะอักเสบโดยตรง แต่อาจจะเกิดร่วมกัน หรือเป็นผลต่อเนื่องจากการอักเสบในทางเดินปัสสาวะอย่างเรื้อรัง จนทําให้หน้าที่ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไป"

 

- ปวดแสบลำกล้องหรือรูปัสสาวะเวลาปัสสาวะ

 

- ปัสสาวะสุดแล้วปวดหรือเสียว

 

- ปวดท้องน้อย มักมีอาการเมื่อเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

- เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จากการกระทบกระเทือนรูปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือไตที่กำลังอักเสบ

 

- น้ำปัสสาวะสีขุ่น เมื่อเป็นมากขึ้นจะปัสสาวะเป็นเลือด หรือเป็นหนอง

 

- น้ำปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น กลิ่นนั้นสัมพันธ์กับความ รุนแรงของการติดเชื้อ ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น จากเหม็นน้อย เป็นเหม็นมากหรือเหม็นเน่า

 

- มีอาการไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งมักจะเป็นในเด็กหรือ ทารก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร หงุดหงิด งอแง ร้องกวน ตัวเขียว มือ-เท้าเขียว ท้องเสีย ท้องผูก

 

- มีอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวจากการติดเชื้อ ได้แก่ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว

 

2. หากเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน มักจะเกิดอาการรุนแรงตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อดังนี้

 

- มีไข้สูงหนาวสั่น เนื่องจากเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ไข้มักจะสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ขณะไข้ขึ้นจะหนาวสั่นอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตัว ตัวสั่นทั้งตัวจนฟันกระทบกัน

 

- เจ็บปวดบริเวณสีข้าง ข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง ร้าวไปด้านหลัง เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของไต อาการปวดจะเหมือนอาการปวดกล้ามเนื้อแต่รุนแรงกว่า คนไข้บางคนบอกว่าปวดมากเหมือนเอวจะหลุดออกจากตัว หากไปนวดหรือทุบโดนบริเวณนั้นจะปวดทรมานอย่างมาก และการมีไข้สูง

 

- อ่อนเพลีย รับประทานน้ำและอาหารไม่ได้ จนอาจทำให้เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล หากร่างกายอ่อนแออยู่แล้วยังเป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคความ ดันโลหิตสูง หรือโรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจากความเจ็บป่วย ไข้สูงทำให้สูญเสียพลังงานมาก มิหนำซ้ำยังรับประทานอะไรไม่ได้

 

- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กินข้าว-ดื่มน้ำไม่ได้

 

- ความดันโลหิตตก จากการติดเชื้อ และ/หรือร่างกาย ขาดน้ำ

 

- ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึม เบลอ ไม่พูดไม่จา ฯลฯ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา หรือรักษาแล้วแต่คนไข้ภูมิต้านทานไม่ดี เชื้อโรคจะเข้าไปในกระแสเลือด เกิดเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยจะหมดสติ โคม่า และเสียชีวิตได้

 

การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบด้วยตัวเอง

 

การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบด้วยตนเอง ในเบื้องต้น


หากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรรักษาด้วยตนเองเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้นะคะ แต่หากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง คุณสามารถรักษาตนเองเบื้องต้นได้ โดยที่คุณต้องแข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่อ่อนเพลีย รับประทานน้ำและอาหารได้ตามปกติ

 

1. ธรรมชาติบำบัด

- พักผ่อนให้มาก

- หลีกเลี่ยงการขี่มอเตอร์ไซค์, ยกของหนัก, มีเพศสัมพันธ์, เดินทางไกล, หรือออกกำลังกาย ฯลฯ

- ดื่มน้ำให้มาก วันละเกิน 2 ลิตร

- ไม่กลั้นปัสสาวะ

- รับประทานสมุนไพร ได้แก่ ผลไม้จำพวกเบอร์รี่ กระเจี๊ยบ หญ้าหนวดแมว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของชาชง

 

2. ใช้ยารักษาตามอาการ

เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปัสสาวะบ่อย ยาแก้ปวด ฯลฯ

 

3. ใช้ยาปฏิชีวนะ

ชนิดรับประทานที่ครอบคลุมเชื้อที่มักเป็นสาเหตุ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin), TMP-SMX (Trimethoprim-Sulfamethoxazole), wasฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) หรือพวก Fluoroquinolones อื่น ๆ

 

“การรักษาตนเองนั้น หากครบ 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควร ไปพบแพทย์”

 

การป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

 

การป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ


1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ด้วยการกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ขาดอาหารหมวดใดหมวดหนึ่ง ดื่มน้ำให้มาก

(30 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. ดูแลน้ำหนักไม่ให้อ้วนหรือผอม เพราะทั้งสองอย่างนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

3. ละเว้นการนอนดึก ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ซึ่งทำลายสุขภาพ เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น

4. ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล โดยทั่วไปการอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ถือว่าเพียงพอ แต่หากทำงานที่มีเหงื่อไคลมาก หรือหลังออกกำลังกาย อาจต้องอาบน้ำเพิ่มนะคะ

5. ระวังการทำความสะอาดส่วนสงวน ควรระวังความสะอาดของห้องน้ำสาธารณะ เพราะน้ำที่สกปรกหรือโถชักโครกที่สกปรก สามารถนำเชื้อโรคมาปนเปื้อนบริเวณรูปัสสาวะได้

6. ระวังการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่แน่ใจควรสวมถุงยางอนามัยนะคะ

7. อย่าห่วงงานจนกลั้นปัสสาวะ ไม่ควรนั่งอยู่กับที่นานเกิน 2 ชั่วโมง บอกตนเองเสมอว่าหากป่วยแล้วรายได้ที่ได้รับจะไม่คุ้มค่ายาและการรักษาตัว นอกจากไม่กลั้นปัสสาวะแล้ว ก็ไม่ควรบังคับตนเองให้ปัสสาวะบ่อยจนเกินไปด้วยนะคะ

8. ไม่ควรกลั้นอุจจาระ

 

 

คลิกอ่านโรคต่อไป  >>> โรคปวดหัวไมเกรน

 

บรรณานุกรม

พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข. 8 โรคร้ายของวัยทำงาน. พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552.

 

สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 086-955-6366, 091-546-9415


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.จิราณี กิจศิริพิพัฒน์

แพทย์แผนไทยประยุกต์

"พื้นฐานของสุขภาพดีคือการใส่ใจดูแลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ให้สมดุลกันเสมอ"

พท.ปฐมาพรรณ บุญประเสริฐ

แพทย์แผนไทย

" การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิถีธรรมชาติ เป็นเกราะป้องกันโรค ทางกายและใจ "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า