มะเร็งตับ สาเหตุการตายอันดับ1 ผู้มีความเสี่ยงควรระวัง!

วิธีดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย

มะเร็งตับ สาเหตุการตายอันดับ1 ผู้มีความเสี่ยงควรระวัง!

มะเร็งตับ (Liver Cancer) เป็นโรคร้ายจากการเกิดเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อตับ เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดเพราะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในไทย ปี 2560 พบว่ามะเร็งตับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและเจ็บป่วยเรื้อรังจนเป็นสาเหตุสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก จนกระทั่งเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะพบได้ยากและมักมีอัตราการรอดชีวิตที่ต่ำกว่าโรคมะเร็งอื่นๆ การรับรู้เกี่ยวกับมะเร็งตับ เฝ้าระวัง และป้องกันเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยลดโอกาสเสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้ได้ในระยะแรกๆของการเจ็บป่วย

 

อาการของมะเร็งตับ อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขั้นต้นของโรคและความรุนแรงของมะเร็ง แต่บางครั้งอาการอาจไม่แสดงออกมาจนกว่ามะเร็งจะอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว สามารถแยกตามระยะของโรคดังนี้

 

ระยะเริ่มแรก: ในระยะนี้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่ชัดเจน หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย แต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัด

 

ระยะกลาง: มีอาการเจ็บหน้าท้อง จุกใต้ชายโครงบริเวณที่อยู่ของตับเนื่องจากตับมีขนาดใหญ่ขึ้น คลำได้ก้อนใต้ชายโครงขวา มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องโต อาเจียนเป็นเลือด ขาบวมขึ้น น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว

 

ระยะสุดท้าย: ในระยะนี้มักจะเกิดการทำงานของตับที่ผิดปกติ เช่น ผิวเหลือง ตาเหลือง หรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้ออ่อนแรง จ้ำเลือดตามร่างกาย อาการซีดและเลือดออกได้ง่าย และอาจมีการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังส่วนอื่นของร่างกาย

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับมีหลายปัจจัย แต่สาเหตุหลักคือการที่เซลล์ตับมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในเซลล์ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ตับที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของมันได้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B และ C เรื้อรัง โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดมะเร็งตับในประเทศไทย หรือจะเป็นจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่ โรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือคนที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งตับ

 

กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ 

 

• ผู้ที่มีประวัติเข้ารับการรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบ B และ C 

• ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

• ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นประจำ 

• ผู้ที่ได้รับพิษจากสารเคมี หรือสารพิษอื่น ๆ ที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น vinyl chloride และ thorium dioxide ในอุตสาหกรรมพลาสติก

• ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน

 

ในปัจจุบันแนวทางการรักษามะเร็งตับจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค สมรรถภาพของตับ และสภาพทางร่างกายของผู้ป่วย การรักษาอาจประกอบไปด้วยการผ่าตัดเพื่อตัดออกเนื้องอกในตับ การใช้รังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การใช้เคมีบำบัดเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือการใช้การรักษาแบบผสมผสาน เช่น ผ่าตัดตามด้วยรังสีและเคมีบำบัด เป็นต้น โดยแนวทางการรักษาแบ่งตามระยะโรคมีดังนี้

 

• การใช้เข็มให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Raiofrequency ablation) , การรักษาโดยการใช้ความเย็น เหมาะสำหรับมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น

• การรักษาด้วยการฉายรังสีจากภายนอกลำตัว เพื่อให้รังสีมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงต่อเนื้อเยื่อมะเร็งตับ โดยไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ออวัยวะรอบข้าง 

• การผ่าตัด ช่วยในการเอาเซลล์มะเร็งออกจากตับ โดยบางกรณีอาจต้องตัดออกเป็นส่วนของตับหรือทั้งตับให้เหลือเพียงส่วนเล็กน้อยที่สามารถทำงานได้ กรณีที่มะเร็งตับยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย และไม่มีภาวะความดันในหลอดเลือดตับสูงผิดปกติ ระดับบิลลิรูบินปกติ

• การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ใช้ในกรณีมะเร็งตับระยะกลาง เนื้องอกในตับยังไม่มีการเข้าหลอดเลือดใหญ่ในตับหรือแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น

• การปลูกถ่ายเซลล์ตับ กรณีมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือมะเร็งตับในระยะที่ลุกลามแล้ว

 

โรคมะเร็งตับในทางการแพทย์แผนไทยก็มีกล่าวไว้ตามคัมภีร์เวชศาสตร์ที่กล่าวถึงการรักษาโรคต่าง ๆ ดังนี้

 

• คัมภีร์อุทรโรค กล่าวถึง โรคในช่องท้อง กล่าวถึง โรคมาน 18 ประการ ที่เกิดจากธาตุวิปริต ทำให้ท้องพองใหญ่ เรียกว่า มาน

- มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซึมซาบไปในก้อนเนื้อและขุมขน มีอาการกระทำให้บวมทั้งตัวแต่เป็นบั้นเป็นท้อน ครั้นถ่ายยาทายาลงไปก็ยุบ แล้วกลับเป็นอีกมากกว่าเดิม เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน ครั้งนานเข้าจะนั้งมิได้ นอนราบลงไม่ได้ ได้แต่นอนคดงอจึงค่อยสบาย แล้วบวมขึ้นไปทั้งตัว ดังเนื้อจะปริแตกออกจากกัน ผิวหนังใสซีด ไม่มีโลหิต จะเคลื่อนไวร่างกายส่วนใดก็มิได้ นอนซมอยู่ดังศพขึ้นพองสมมติว่า “มานทะลุน”

• คัมภีร์กษัย กล่าวถึง โรคความเสื่อมของร่างกาย

- กษัยลิ้นกระบือ เกิดจากโลหิตลิ่มติดอยู่ชายตับเป็นตัวแข็ง ยาวออกมาจากชายโครงข้างขวา มีสัณฐานดังลิ้นกระบือ ทำให้ครั่นตัว ให้ร้อน ให้จับเป็นเวลา ให้จุกให้แน่นอก บริโภคอาหารมิได้ ให้นอนมิหลับอยู่เป็นนิจ ให้กายนั้นชูบผอมแห้งไป ครั้นแก่เข้าตัวกษัยแตกออกเป็นโลหิตแลน้ำเหลือง ให้ซึมไปในไส้ใหญ่ใส้น้อย ทำให้ไส้พองท้องใหญ่

- กษัยเต่า เกิดจากดานเสมหะ ตั้งอยู่ที่ชายโครงขวาเท่าฟองไข่ แล้วลามขึ้นมาจุกอยู่ยอดอก กระทำให้จับทุกเวลาน้ำขึ้น ให้กายชูบผอม ผิวเนื้อเหลืองดังขมิ้น ครั้นนานเข้าให้โลหิตตกทวารหนัก ทวารเบา โทษทั้งนี้คือ ตัวกษัยแตกออก เป็นอสาทิยโรค

• คัมภีร์อติสาร กล่าวถึงโรคในระบบทางเดินอาหารและลุกลามไปอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด หัวใจ จนมีผลต่อระบบประสาท เป็นลักษณะเรื้อรัง

- กาฬพิพิธ เกิดขึ้นที่ขั้วตับ ทำให้ตับหย่อน ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน แน่นหน้าอก กายก็ผุดเป็นแว่นวง เขียวแดงไปทั่วกาย

- กาฬพิพัธ เกิดขึ้นในขั้วหัวใจและขั้วตับ ถ่ายเป็นน้ำล้างเนื้อ หอบมาก เผลอสติ

- กาฬมูตร เกิดขึ้นในตับ ถ่ายเป็นโลหิตเน่า เป็นลิ่ม เป็นก้อนดำเหมือนถ่านไฟที่ดับแล้วลงปอด ให้หายใจหอบ กระหายน้ำ เกิดในม้าม ให้เชื่องซึม หลับตา มือเท้าเย็น ลมในกายพัด เสมหะมาจุกคอ ลมหายใจขาดค้างอยู่เพียงลำคอ

• คัมภีร์ทิพย์มาลา กล่าวถึงลักษณะของวัณโรค ฝีภายใน (มะเร็ง) อธิบายอาการเกี่ยวกับโรคตับไว้ว่า 

- ฝีรวงผึ้ง ทำให้แน่นชายตับเบื้องขวา ให้ยอกตลอดสันหลัง ให้ตัวเหลือง หน้าเหลือง ตาเหลืองดังขมิ้น ปัสสาวะเหลืองดุจน้ำกรัก ให้จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้มึนตึง ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก ให้อิ่มด้วยลม บริโภคอาหารมิได้

• คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์ กล่าวถึงโรคลำบองราหูในเด็ก โรคสันนิบาตต่าง ๆ และกาฬโรค อธิบายอาการเกี่ยวกับโรคตับไว้ว่า สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน เกิดที่ชายตับ ทำให้ตับโตออกมาจนคับชายโครง บางทีตับหย่อนลงมาถึงตะคาก (กระดูกเชิงกรานใต้บั้นเอว) ให้จับเป็นเวลาตังเป็นไข้ เย็นทั่วทั้งตัว ท้องขึ้น ท้องพอง ผะอืด ผะอม

 

เห็นได้ว่าโรคมะเร็งตับเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยมานาน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับในทางมุมมองของแพทย์แผนไทยมักเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ไปส่งเสริมทำให้ตับทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานหนัก พักผ่อนน้อย การทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเช่น อาหารที่รสหวาน เค็ม มัน ทานของดิบคาวมากจนเกินไป ทำให้ตับทำงานหนัก เกิดความร้อนสะสมภายในตับ ที่ใดมีไฟ (ความร้อน) มากที่นั่นย่อมจะมีลมมากตามมา เมื่อตับร้อน ส่งผลให้ลมมาสุมบริเวณตับ ทำให้มีอาการแน่นท้อง แน่นชายโครง จุกเสียดได้ เลือด น้ำดี ที่อยู่บริเวณตับจะเคลื่อนได้ไม่ดี เพราะลมที่อัดแน่น ไฟที่สุมจนมากเกินไป ทำให้ตับบวมขึ้น หลอดเลือดภายในโป่งพองมากเกินไปจนแตกออก ทำให้มีอาการเลือดออกทางเดินอาหาร อุจจาระ รวมถึงอาเจียนเป็นเลือด น้ำดีที่คั่งค้างจากการไหลเวียนที่ไม่ดี จะไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ทำให้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง และเมื่อธาตุทั้ง 3 เสียสมดุลแบบเรื้อรัง ก็จะไปส่งผลต่อธาตุดิน นั่นคือตัวของตับเอง ที่จะค่อย ๆ สูญเสียสภาพ เปลี่ยนแปลงรูปร่างจนทำให้กลายเป็นตับที่ผิดปกติไป ยากที่จะฟื้นตัวกลับมา อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับแข็ง ลุกลามรุนแรงไปจนถึงโรคมะเร็งตับได้

 

แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งตับทางการแพทย์แผนไทยมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ สาเหตุของการเกิดโรค หากพิจารณาตามตรีสมุฎฐานการเกิดโรค (ปิตตะ วาตะ เสมหะ : ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ) สามารถบำบัดตามขั้นตอนได้ดังนี้

 

1. กระทุ้งพิษร้อนจากตับให้กระจายออกเพื่อที่จะรุ ระบายในขั้นต่อไป มะเร็งตับเกิดจากปิตตะ (ความร้อน) เป็นส่วนมาก ขั้นการกระทุ้งพิษส่วนใหญ่จะใช้ยาเย็น เช่น ตำรับยาห้าราก หรือ เบญจโลกวิเชียร

2. รุ หรือการขับพิษของเสียออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ ประจำเดือน ในช่วงแรกควรรุติดต่อกัน 4 วัน จากนั้นเว้นไว้รุทุกๆ 7 วัน ตอนนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยได้มีการใช้ตำรับยาเบญจอำมฤตย์เป็นยารุในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าให้ผลดีในการขับสารพิษ ก่อนจะวางยารักษาในขั้นตอนถัดไป

3. ล้อม คือการไม่ให้พิษเข้าไปในตับอีก ขั้นตอนนี้ต้องร่วมกับการปรับพฤติกรรมของคนไข้ คือการเลี่ยงอาหารแสลง การไม่รับของมีพิษเข้าไปในร่างกาย และต้องล้อมไม่ให้พิษกระจายออกไปที่ส่วนอื่นโดยใช้ตำรับยาล้อมตับเพื่อดับพิษ งดทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนต่าง ๆ เช่น ของหมักดอง อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ สัตว์เนื้อแดง อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง เป็นต้น

4. กล่อม คือการทำให้ตับเป็นปกติ กรณีมะเร็งตับที่เกิดจากปิตตะให้ใช้ยาเขียว ที่เป็นยาเย็น

5. รักษา เป็นการใช้ตำรับยารักษามะเร็งโดยตรง ส่วนใหญ่เน้นยาที่มีรสเมาเบื่อ เช่น ยาแก้กษัยลิ้นกระบือ

6. บำรุง เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการบำรุงตับด้วยยารสสุขุม ห้ามใช้ยากระตุ้นฤทธิ์ร้อนเป็นอันขาด เช่น ยาตำรับกล่อมนางนอน กำลังราชสีห์ ยาบำรุงโลหิต

 

นอกจากการรักษาด้วยยาสมุนไพรแล้ว การดูแลสุขภาพตามคำแนะนำก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากแนวทางการรักษาโรคต่าง ๆ ให้หายสนิท ไม่เพียงแต่พึ่งพาการใช้ยา แต่ต้องดูแลแบบองค์รวมคือการปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำร่วมด้วย ซึ่งแนวทางการรักษานี้สำหรับแพทย์แผนปัจจุบันก็ให้ความสำคัญในการดูแลบำรุงตับเช่นเดียวกันว่าอาหาร พฤติกรรมมีส่วนสำคัญในการรักษา

 

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและรับมือกับโรคได้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

 

1. งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงที่เลือดจะออกจากหลอดเลือดดำและลดการสะสมของไขมันในตับ การสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มขึ้นทำให้มะเร็งเติบโตได้

2. ลดการรับประทานอาหารรสหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ติดมัน กะทิ เนย เพื่อลดการสะสมของไขมันในตับและหลอดเลือด น้ำตาลมีส่วนสำคัญที่จะไปกระตุ้นให้เซลล์อักเสบ และเป็นอาหารของมะเร็ง ควรเลี่ยงการทานในระหว่างการรักษา

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไม่สุก อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลดิบ เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อรุนแรงได้ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมักมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนปกติ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

4. หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีโซเดียมสูง จำกัดปริมาณเกลือหรือโซเดียมที่ได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน (หรือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน) เพื่อลดภาวะที่ร่างกายดูดกลับสารน้ำ ส่งผลต่ออาการบวมในช่องท้องและขา

5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนสูง เช่น ถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น ปลาเค็ม เต้าเจี้ยว กระเทียม พริก หอม เป็นต้น เนื่องจากทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง อาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่มักมีสารกันบูดหรือสารกันเสีย ซึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ อีกทั้ง สารอะฟลาทอกซินมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งตับได้

6. รับประทานอาหารประเภท branch chain amino acid (BCAA) ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็น 3 ชนิดที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ ได้แก่ ลิวซีน ไอโซลิวซีน และวาลีน พบได้ใน โปรตีนไข่ขาว โปรตีนจากถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน รวมไปถึงควรทานอาหารที่มีกากใยสูง ธัญพืช ผลไม้ ผัก และอาหารที่มีสังกะสีสูง จะไปช่วยในกระบวนการกำจัดยูเรีย เช่น งา จมูกข้าว มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง อาหารเหล่านี้จะช่วยลดภาวะข้างเคียงทางสมองได้

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับในเวลากลางคืนช่วยฟื้นฟูตับได้เพราะขณะที่หลับสนิทเลือดจะไหลเวียนได้ดีสารอาหารในเลือดจะไปซ่อมแซม และบำรุงตับให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมาน และมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ควรจำกัดน้ำดื่ม เพื่อลดปริมาณสารน้ำเข้าสู่ร่างกาย

9. ดูแลการขับถ่ายให้ถ่ายได้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อลดการสะสมสารพิษในร่างกาย ที่จะนำไปสู่อาการผิดปกติทางสมองที่จะเกิดจากการสร้างแอมโมเนียในระบบทางเดินอาหาร และควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว (เลือกแบบที่ไขมันน้อย) ที่มีส่วนผสมของ probiotics เพื่อกระตุ้นการถ่ายให้อุจจาระเพิ่มมากขึ้น

10. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดการสะสมของไขมันที่ตับ ผู้ป่วยโรคตับสามารถออกกำลังกายได้แต่ควรเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดการเกร็งช่องท้อง การออกกำลังกายที่แนะนำคือ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน เป็นต้น แต่หากมีอาการจุกเสียดแน่นที่บริเวณตับ ควรงดการออกกำลังกายไปก่อน

11. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

12. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพร หากทานต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์

13. ผู้ป่วยควรได้รับความสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน ญาติ หรือคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการดูแลตัวเองและสู้ต่อสู้กับโรคมะเร็งตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

14. ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ตาเหลืองมากขึ้น ซึม สับสน อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำเหลว มีไข้ เหนื่อยกว่าปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

 

แนวทางการป้องกันมะเร็งตับที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ เนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับทั้ง 2 ชนิดนี้จึงมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูง หากมีมะเร็งตับเกิดขึ้น มะเร็งตับจะโตขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลา 3-6 เดือน ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับเรื้อรังควรต้องตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ และ ตรวจอัลตราซาวน์ตับทุก 3 เดือน 

 

นอกจากนี้การป้องกันสำหรับผู้ที่สุขภาพดีเพื่อป้องกันมะเร็งตับ ควรดูแลตามแนวทางดังนี้

 

1. รักษาสุขภาพที่ดี โดยรับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน ทั้ง ผัก ผลไม้ และโปรตีนในสัดส่วนที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถรับประทานอาหารเสริมเพื่อช่วยบำรุงตับได้ 

2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งตับ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนสูง เช่น ถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น ปลาเค็ม เนื่องจากทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง 

3. ปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ โดยทำการตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นประจำ และปฏิบัติตามการรักษาและการตรวจตามนัดอย่างเคร่งครัด

4. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อมากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับตับ (ตับแข็ง ไขมันพอกตับ) ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ผู้ที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือด ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อายุตั้งแต่ 19-59 ปี ผู้ที่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น

5. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับเรื้อรัง สามารถดื่มกาแฟดำที่ไม่ผสมน้ำตาลและนมได้ เนื่องจากงานวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ

 

การรับรู้เกี่ยวกับอาการ สาเหตุ แนวทางการรักษา และวิธีการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถจัดการกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลจากทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การรับรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากการรักษามะเร็งตับเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพทางร่างกายของผู้ป่วย การรักษาที่ดีที่สุดคือการค้นหาและรักษาโรคในระยะต้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรักษาเอาชีวิตรอดของผู้ป่วย

 

ปุณรดายาไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและทีมแพทย์แผนไทยที่มีประสบการณ์ยินดีให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สมุนไพรบำรุงตับ สามารถปรึกษาอาการเข้ามาทาง Line ของปุณรดายาไทยได้เลยนะคะ ทางเรามีคุณหมอคอยดูแลให้คำแนะนำทุกวัน ตั้งแต่ 09:00-21:00 เลยค่ะ ติดต่อทาง Line id : @‌poonrada หรือ โทร 02-1147027 นะคะ

 

ปุณรดายาไทยเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดค่ะ หากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาปุณรดายาไทยได้นะคะ ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

 

สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 02-1147027


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.จิราณี กิจศิริพิพัฒน์

แพทย์แผนไทยประยุกต์

"พื้นฐานของสุขภาพดีคือการใส่ใจดูแลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ให้สมดุลกันเสมอ"

พท.ปฐมาพรรณ บุญประเสริฐ

แพทย์แผนไทย

" การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิถีธรรมชาติ เป็นเกราะป้องกันโรค ทางกายและใจ "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า