ยาหอมลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ไหม? ถ้าได้ควรทานตัวไหนดี?

วิธีดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย

ยาหอมลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ไหม? ถ้าได้ควรทานตัวไหนดี?

หลาย ๆ คนคงจะรู้จักยาหอมในการรักษาหรือบรรเทาอาการทางลม อย่างเช่น วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องอืดท้องเฟ้อ กันใช่ไหมคะ แต่รู้หรือไม่คะ นอกจากจะรักษาอาการเหล่านี้ได้แล้ว ยาหอมยังสามารถช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้อีกด้วย

 

การใช้ยาหอมในการลดอาการปวดท้องประจำเดือนมีการใชัมาอย่างยาวนาน โดยส่วนใหญ่ จะใช้แก้อาการข้างเคียงในช่วงที่มีประจำเดือนเสียมากกว่า เช่น แก้อาการหงุดหงิด อารมณ์เสีย วิงเวียน แต่จริง ๆ แล้วในตำรับยาหอม มีสมุนไพรที่ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้โดยตรงเลยค่ะ
 

วันนี้หมอจะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก และเปิดมุมมองการใช้ยาหอมในการลดอาการปวดท้องประจำเดือน ไปด้วยกันค่ะ ก่อนอื่นขอเริ่มต้นด้วย อาการปวดท้องประจำเดือนในมุมมองของแพทย์แผนไทยกันก่อนนะคะ


อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญใจให้กับสาว ๆ ที่ต้องเจอในทุก ๆ เดือน บางคนมีอาการปวดมากจนต้องใช้ยาบรรเทาอาการ หรือปวดน้อยสลับกันไป แต่นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ก็ยังมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมได้ เช่น ปวดบริเวณหลังล่าง ท้องเสีย ท้องอืด ปวดศีรษะ มึนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตัวบวม รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว เป็นต้น


ในทางการแพทย์แผนไทย พระคัมภีร์มหาโชตรัต (คัมภีร์การรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดในผู้หญิง) ได้กล่าวถึงอาการปวดท้องประจำเดือนว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ก่อนมีประจำเดือน แต่นอกจากอาการปวดท้อง ก็ยังมีอาการอื่น ๆ อีก เรียกว่า “โลหิตปกติโทษ 5 ประการ’’ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

 

1.โลหิตระดูอันเกิดแก่หัวใจ(จิตใจ อารมณ์ ฮอร์โมนที่ไม่ปกติช่วงก่อนมีประจำเดือน) เมื่อใกล้จะมีระดู มักมีอาการคลั่งเพ้อ ละเมอ นอนสะดุ้ง กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย เมื่อมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป 

 

2.โลหิตระดูอันเกิดแต่ขั้วดี (สมดุลความร้อนในร่างกาย) เมื่อใกล้จะมีระดู ทำให้มีอาการเป็นไข้ ไข้สูง คลั่งไคล้ ละเมอ เพ้อพก นอนสะดุ้ง เมื่อมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป

 

3.โลหิตระดูอันเกิดแต่ผิวเนื้อ เมื่อใกล้จะมีระดู ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ ร้อนผิวหนัง และแดงเหมือนผลตำลึกสุก บางทีให้ผุดขึ้นทั้งตัวเหมือนหัด (สิว ผด ผื่น) และฟกเป็นดังไข้รากสาด เป็นอยู่ 2 วัน 3 วัน เมื่อมีระดูมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป

 

4.โลหิตระดูอันบังเกิดแต่เส้นเอ็น เมื่อใกล้จะมีระดูมา ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นไข้  รู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก เมื่อมีระดูออกมาแล้ว อาการก็หายไป

 

5.โลหิตระดูอันเกิดแต่กระดูก เมื่อใกล้จะมีระดู ทำให้ปวดเมื่อยไปทุกข้อ ทุกกระดูก เจ็บเอว เจ็บสันหลังมาก มักบิดเกียจคร้านบ่อยๆ เมื่อมีระดูออกมาแล้วก็หายไป

กลไกการเกิดประจำเดือนในมุมมองทางการแพทย์แผนไทย ช่วงมีประจำเดือนเป็นช่วงที่บริเวณมดลูก มีธาตุไฟและธาตุลมมาสุมอยู่ตรงบริเวณนี้มากกว่าปกติอันเนื่องมาจากหลังการตกไข่และไข่มาฝังตัวอยู่บริเวณมดลูก ทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงและสร้างเนื้อเยื่อในบริเวณนี้ จะสังเกตได้ว่าท้องน้อยจะมีความร้อนหรือรู้สึกอุ่นๆมากกว่าบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย พอลมมากขึ้นบริเวณท้องน้อย อวัยวะอื่น ๆ ก็จะมีผลกระทบไม่ว่าจะเป็นลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย หรือบางคนจะรู้สึกว่าหน้าท้องบวมขึ้นกว่าปกติและหากมีธาตุใดธาตุหนึ่ง มีการทำงานที่มาก หรือน้อยจนเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น 

 

• เลือดประจำเดือนมากกว่าปกติ มักจะเกิดจาก ดินและน้ำภายในกำเริบ มีมากกว่าปกติ อาจจะมีเนื้องอก หรือสร้างชั้นเนื้อเยื่อภายในมดลูกมาก ทำให้เวลาที่ประจำเดือนออก ลมและไฟจะพาเนื้อเยื่อที่หลุดลอกออกมามากขึ้น ดินและน้ำที่กำเริบ อาจจะเป็นสัญญาณว่าภายในมีเนื้องอก ซีสต์เกิดขึ้นมาได้

 

• เลือดประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาด ๆ หาย ๆ มากระปริบกระปรอย มีลิ่ม มีก้อน เป็นผลจากลมภายในติดขัด อั้น ทำให้การไหลเวียนขับเลือดประจำเดือนออกมาได้ไม่ดี มักเป็นสัญญาณว่าช่วงนั้น เราอาจจะไม่ค่อยได้ขยับตัว หรือรับประทานอาหารที่ฤทธิ์เย็นเกินไป ส่งผลให้ลมพัดพาได้ไม่ดี เลือดประจำเดือน(ธาตุน้ำ)ที่ได้รับความเย็นก็จะจับตัวเป็นก้อนได้ ภาวะนี้จะไปส่งผลต่อลมบริเวณช่องท้องและหลัง ยิ่งทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสีย รวมไปถึงปวดหลังส่วนล่างตามมาได้ จากลมอั้นที่เกิดขึ้น

 

• ประจำเดือนมีสีคล้ำ เลือดประจำเดือนแห้งไป เป็นผลจากธาตุไฟที่มาก ไปสุมจนทำให้ปริมาณน้ำลดลง จะสีแดงปกติ เป็นสีแดงเข้มคล้ำได้ แต่หากธาตุไฟหย่อนประจำเดือนก็จะมีสีซีดจางลงได้ เป็นต้น

 

เมื่อเราเห็นความเชื่อมโยงจากธาตุในร่างกายที่แปรเปลี่ยนไป จะเห็นได้ว่าในช่วงที่มีประจำเดือน มีโอกาสที่ธาตุลมและธาตุไฟในร่างกายจะโดนกระทบได้ง่าย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนตามส่วนต่าง ๆ การปรับธาตุไฟและธาตุลมในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ ไม่มาก หรือน้อยจนเกินไป จึงมีความสำคัญในการช่วยลดอาการปวดประจำเดือน นี่จึงเป็นเหตุผลที่หมอแผนไทยเลือกใช้ยาหอมมาช่วยปรับการไหลเวียนและการกระจายเลือดลมเพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือนนั่นเองค่ะ สรรพคุณหลักในการรักษาของยาหอม คือ การปรับธาตุลมในร่างกายที่ผิดปกติ และเมื่อธาตุลมและไฟเป็นคู่ธาตุที่มักจะสอดคล้องกัน เช่น ลมมาก ไฟก็จะมากด้วย ลมน้อย ไฟก็จะน้อยลงด้วย ยาหอมเลยมีความสำคัญที่มีส่วนช่วยในการปรับ 2 ธาตุนี้ เมื่อมีภาวะผิดปกติ 

 

ต่อไปหมอจะพาทุกคนมารู้จักกับยาหอมหลัก 2 ตำรับที่หมอเลือกใช้ในการรักษา สาเหตุที่เลือกมา 2 ตำรับนี้เพราะ เป็นยาหอมที่มีรสสุขุมร้อน เหมาะกับการกระจายเลือดลม เพื่อช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนค่ะ

1. ยาหอมนวโกฐ สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) แก้ลมปลายไข้ หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย ซึ่งในตำรับยา มีตัวยาสมุนไพรที่ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนและอาการข้างเคียงช่วงที่มีประจำเดือน เช่น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียน อ่อนเพลีย ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น โดยมีสมุนไพรในตำรับดังนี้

 

• โกฐหัวบัว มีสรรพคุณ กระจายลมทั้งปวง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

 

• โกฐเชียง มีสรรพคุณ แก้ปวดประจำเดือนแก้ท้องผูก บำรุงโลหิต กระจายโลหิต ขับประจำเดือน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด

 

• โกฐชฏามังสี มีสรรพคุณ ขับโลหิตระดูเน่าเสีย  ขับประจำเดือน ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสามารุถช่วยในการคลายกล้ามเนื้อมดลูกได้

 

• เทียนดำ  มีสรรพคุณ ขับคูถเสมหะ เลือดประจำเดือนที่ตกค้างเป็นเมือก เป็นก้อน ตกขาว ที่จับตัวเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็นคาว นอกจากนี้ ในสารสกัดเทียนดำยังพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีฤทธิ์ต้านการปวดและอักเสบ และนํ้ามันหอมระเหย thymoquinone มีผลต่อระบบฮอร์โมนซึ่งมีผลต่ออาการมีประจำเดือน

 

• เหง้าขิงแห้ง มีสรรพคุณ ลดอาการท้องอืด จุกเสียด คลื่นไส้ อาเจียน ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า มีสาร 6-gingerol และ 6-shogaol ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ต้านการอักเสบ

 

• ดอกดีปลี เป็นสมุนไพรประจำธาตุดิน มีสรรพคุณ ขับระดู มีสาร piperine ที่มีฤทธิ์ช่วยในการกระจายลมในขณะมีประจำเดือน

 

• รากเจตมูลเพลิงแดง เป็นตัวยาประจำธาตุไฟ มีสรรพคุณ ช่วยขับระดูมีฤทธิ์ต้านการเกิด nitric oxide ช่วยลดปวด มีฤทธิ์บีบมดลูกช่วยขับประจำเดือน ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด

 

• เถาสะค้าน เป็นสมุนไพรประจำธาตุลม มีสรรพคุณ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย eugenol มีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องประจำเดือน

 

• ช้าพลู เป็นสมุนไพรประจำธาตุน้ำ มีสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย พบสารกลุ่ม unsaturated pyrrolidine amides ที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน

 


2. ยาหอมอินทจักร์ สรรพคุณ แก้ลมบาดทะจิต (อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย จิตใจไม่นิ่งสงบ) แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด ซึ่งในตำรับยา มีตัวยาสมุนไพรที่ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน และอาการข้างเคียงช่วงที่มีประจำเดือน เช่น  รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ เป็นต้น โดยมีสมุนไพรในตำรับดังนี้

 

• เถาสะค้าน เป็นสมุนไพรประจำธาตุลม มีสรรพคุณ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย eugenol มีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องประจำเดือน

 

• ช้าพลู เป็นสมุนไพรประจำธาตุน้ำ มีสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย พบสารกลุ่ม unsaturated pyrrolidine amides ที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน

 

• เหง้าขิงแห้ง มีสรรพคุณ ลดอาการท้องอืด จุกเสียด คลื่นไส้ อาเจียน ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า มีสาร 6-gingerol และ 6-shogaol มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ต้านการอักเสบ

 

• รากเจตมูลเพลิงแดง เป็นตัวยาประจำธาตุไฟ มีสรรพคุณ ช่วยขับระดูมีฤทธิ์ต้านการเกิด nitric oxide ช่วยลดปวด มีฤทธิ์บีบมดลูกช่วยขับประจำเดือน ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด

 

• โกฐเชียง มีสรรพคุณ แก้ปวดประจำเดือนแก้ท้องผูก บำรุงโลหิต กระจายโลหิต ขับประจำเดือน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด

 

• เทียนดำ มีสรรพคุณ ขับคูถเสมหะ เลือดประจำเดือนที่ตกค้างเป็นเมือก เป็นก้อน ตกขาว ที่จับตัวเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็นคาว นอกจากนี้ ในสารสกัดเทียนดำยังพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีฤทธิ์ต้านการปวดและอักเสบ และนํ้ามันหอมระเหย thymoquinone มีผลต่อระบบฮอร์โมนซึ่งมีผลต่ออาการมีประจำเดือน

 

• บอระเพ็ด มีสรรพคุณ แก้ปวด แก้อ่อนเพลีย พบสารกลุ่ม alkaloid ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ

 

• ลูกจันทน์ (เมล็ดจันทน์เทศ) หรือส่วนของเมล็ด มีสรรพคุณ แก้ปวดมดลูก และบำรุงมดลูก พบสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin ที่เป็นสารทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนช่วยลดและออกฤทธิ์คลายความกังวล ลดการปวด ต้านอนุมูลอิสระ

 

• ดอกจันทน์ (รก, รกจันทน์เทศ) มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต ใช้ขับประจำเดือน พบสารสำคัญสารกลุ่ม myristicin resorcinols ในน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ด้านการปวด และอักเสบ ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin ที่เป็นสารทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน

 

• ฝางเสน  มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบสารกลุ่ม flavonoid ชื่อสาร Brazilin ที่มีฤทธิ์ต้าน อนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งในตริกออกไซต์ ยับยั้ง tumor necrosis factor (TNF) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase 2 ที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบแบบเฉียบพลัน

 

 

 

ความแตกต่างในการใช้บรรเทาอาการปวดประจำของยาหอม 2 ตำรับ คือ

 

• ยาหอมนวโกฐ เหมาะกับอาการปวดท้องประจำเดือนที่มีอาการ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียน อ่อนเพลีย ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว ร่วมด้วย

วิธีการใช้ยา
รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ก่อนอาหารกลางวัน และก่อนนอน 30 นาที หรือเมื่อมีอาการปวดท้องประจำเดือน (ไม่ควรทานเกินวันละ 3 ครั้ง )

 

• ยาหอมอินทจักร์  เหมาะกับอาการปวดท้องประจำเดือน ที่มีอาการรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ร่วมด้วย

วิธีการใช้ยา 
  รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ก่อนอาหารกลางวัน และก่อนนอน 30 นาที หรือเมื่อมีอาการปวดท้องประจำเดือน (ไม่ควรทานเกินวันละ 3 ครั้ง )

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ หลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดยาหอมทั้ง 2 ตำรับ หมอหวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจสรรพคุณทางยาของยาหอมมากขึ้นนะคะ ยาหอมของไทยมีดีกว่าที่คิดไว้ใช่ไหมล่ะคะไม่ใช่แค่แก้ปวดท้องประจำเดือนอย่างเดียว หากท่านใดมีอาการที่เกิดขึ้นก่อน-ระหว่างมีประจำเดือน เช่น ปวดหัว วิงเวียน ไมเกรนขึ้น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ยาหอมทั้ง 2 ตำรับนี้ก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ หมอได้ลองนำมาใช้กับตัวเอง และกับคนไข้ที่เข้ามารักษา พบว่าการใช้ยาหอมช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดี ในทั้งผู้ที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนปกติ หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนจากภาวะเนื้องอกมดลูก และภาวะถุงน้ำในรังไข่เลยค่ะ

จะว่าไปยาหอมนี่ก็เป็นของดี ของเด็ดที่ควรมีติดบ้านไว้เหมือนยาสามัญประจำบ้านค่ะ เกิดอาการขึ้นเมื่อไหร่ก็ชงดื่มได้ทันที อยากชวนท่านผู้อ่านลองปรับมาใช้ยาสมุนไพรไทยในการดูแลสุขภาพด้วยกันนะคะ

ปุณรดายาไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและทีมแพทย์แผนไทยยินดีให้คำปรึกษา ออกแบบการใช้ยาหอม และให้คำแนะนำเฉพาะรายบุคคลตลอดการรักษาเลยค่ะ สามารถปรึกษาอาการเข้ามาทาง Line ของปุณรดายาไทยได้เลยนะคะ ทางเรามีคุณหมอคอยดูแลให้คำแนะนำทุกวัน ตั้งแต่ 09:00 - 21:00 เลยค่ะ ติดต่อทาง Line id : @poonrada หรือ โทร 02-1147027 นะคะ

 


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.จิราณี กิจศิริพิพัฒน์

แพทย์แผนไทยประยุกต์

"พื้นฐานของสุขภาพดีคือการใส่ใจดูแลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ให้สมดุลกันเสมอ"

พท.ปฐมาพรรณ บุญประเสริฐ

แพทย์แผนไทย

" การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิถีธรรมชาติ เป็นเกราะป้องกันโรค ทางกายและใจ "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า